วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ทำอย่างไร...หัวใจและหลอดเลือดจึงจะดีไม่มีโรคภัย

หัวใจที่แข็งแรงจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตที่สมบูรณ์ของคนทุกวัย
ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัยรุ่น วัยทำงาน หรือผู้สูงอายุ
ต่างก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจขาดเลือดและหลอดเลือดสมองอัมภาตได้ทั้งสิ้น
ในปัจจุบันแม้วิวัฒนาการของการรักษาโรคหัวใจจะก้าวหน้าไปมาก
แต่ความรู้พื้นฐานในการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ทุกคนควรศึกษาหาความรู้
ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
ได้แก่ การสูบบุหรี่ โรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง
โรคอ้วน โรคเบาหวาน และที่สำคัญ ควรออกกำลังกายอย่างสมำเสมอ
และขจัดความเครียดในชีวิตประจำวันให้ลดน้อยลง
ก็จะช่วยให้ทุกท่านห่างไกลจากโรคหัวใจและหลอดเลือดได้มากขึ้น

ทุกคนต้องการมีหัวใจและหลอดเลือดที่ดี...แต่กลับไม่ได้สนใจดูแล
ปรับวิถีชีวิตเพียงนิด รางวัลชีวิตไม่เพียงแค่ฝัน
1. เลิกสูบบุหรี่ คิดไว้เสมอว่ายิ่งสูบมากและนานเท่าใด
ก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวมากขึ้นเท่านั้น
2. ออกกำลังกาย แบบไม่หักโหม เช่น ทำสวน ทำงานบ้าน เดินเร็ว
เต้นรำ หรือว่ายน้ำ ช่วงละ 15 นาที วันละ 2 ครั้ง สัปดาห์ละ 5 วัน
ซึ่งจะทำให้มีเหงื่อซึมออกมาและหายใจหอบเร็วขึ้นกว่าปกติ
3. ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม กินอาหารสุขภาพร่วมกับการออกกำลังกาย
ถ้าเป็นไปได้ก็ให้ชักชวนสมาชิกในครอบครัว ให้ทำกิจกรรมร่วมกัน
รวมทั้งเข้ากลุ่มควบคุมน้ำหนัก เพื่อสร้างแรงจูงใจ
4. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
การกินอาหารสุขภาพอย่างเคร่งครัดและรู้จักใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม
จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและโรคอื่น ๆ ได้
5. ควบคุมความดันโลหิต ลดน้ำหนักตัว ลดเกลือ และอาหารมันจัด
หยุดสูบบุหรี่ และลดระดับความเครียด ถ้าเปลี่ยนวิถีชีวิตไม่สำเร็จ
ก็จำเป็นต้องใช้ยารักษาระยะยาว
6. ปรับเปลียนอาหารการกิน กินอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัว หรือไขมันต่ำ
แทนอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว กินผัก ผลไม้สดมาก ๆ
7. ลด ละ เลิกปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ ลดปริมาณในแต่ละวัน
และจำนวนของการดื่มต่อสัปดาห์ ไม่ดื่มเป็นประจำ
8. ลดความเครียด เรียนรู้วิธีลดความเครียด โดยการผ่อนคลายและทำสมาธิ
อาจป้องกันไม่ให้เครียดเกินไป วางแผนทำงาน วางเป้าหมายที่เป็นไปได้
และร่วมกิจกรรมต่าง ๆ กับครอบครัว เช่น ดูแลลูก ๆ และทำงานบ้าน
รดน้ำต้นไม้ ซักผ้า ล้างรถ กวาดบ้าน เป็นต้น
9. ตรวจสอบสุขภาพที่จำเป็นพื้นฐานอย่างสม่ำเสมอ
สุขภาพของท่านที่ควรจะต้องรับการประเมินเป็นระยะ ดังต่อไปนี้
- วัดระดับความดันโลหิตอย่างถูกต้องปีละ 4 ครั้ง
- ชั่งน้ำหนักปีละ 4 ครั้ง
- ตรวจวัดระดับน้ำตาล ไขมันผิดปกติ ได้แก่ ระดับโคเลสเตอรอล ฯลฯ
หน้าที่ของไต ปีละครั้ง

หัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญของทุกชีวิต
คุณจะไม่เสียเวลาและจะไม่เสียใจเลย
ถ้าใส่ใจกับการดูแลสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือดเสียบ้าง
อย่าปล่อยให้ตัวเองเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ

(คัดมาจาก แผ่นพับของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข)

ไม่มีความคิดเห็น: